เศรษฐศาสตร์แนวพุทธนั้น ต้องสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย อย่างครบวงจร การที่จะสอดคล้องกับกระบวนการแห่งเหตุปัจจัยอย่างครบวงจร ก็ต้องเป็นไปโดยสัมพันธ์ด้วยดี กับองค์ประกอบทุกอย่างในระบบการดำรงอยู่ของมนุษย์ องค์ประกอบทั้งสาม* ในการดำรงอยู่ ของมนุษย์นั้นจะต้องประสานเกื้อกูลกัน หมายความว่า องค์ประกอบเหล่านี้ประสานกันด้วย และเกื้อกูลต่อกันด้วย ในการดำรงอยู่ร่วมกันและก็เดินไปด้วยกัน ฉะนั้น พฤติกรรมในทางเศรษฐกิจของมนุษย์ จะต้องเป็นไปในทางที่ไม่เบียดเบียนตน คือ ไม่ทำให้เสียคุณภาพชีวิตของตนเอง แต่ให้เป็นไปในทางที่พัฒนาคุณภาพชีวิต เสริมคุณภาพชีวิตนั้น นี่เป็นการไม่เบียดเบียนตน และ ไม่เบียดเบียนผู้อื่น คือไม่ก่อความเดือดร้อนแก่สังคม และไม่ทำให้เสียคุณภาพของ eco-systems หรือระบบธรรมชาติแวดล้อม.
>พระเทพเวที (ป.อ. ปยุตฺโต)* องค์ประกอบสามอย่างนี้ คือ มนุษย์ ธรรมชาติ และสังคม ธรรมชาติ
ในที่นี้ จำกัดวงแคบเข้ามาในความหมายของคำว่า eco-systemsซึ่งในภาษาไทยบัญญัติศัพท์ไว้ว่า ระบบนิเวศ หรือเรียกง่าย ๆ ว่า ธรรมชาติแวดล้อม.ที่มา : หนังสือ "เศรษฐศาสตร์แนวพุทธ buddhist economics" โดย พระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต),
คณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ กันยายน ๒๕๓๗ หน้า ๔๗